คุณผู้อ่านสงสัยไหมคะว่า
ชุดที่เห็นในรูป คือชุดอะไรและใช้ในโอกาสใด
เสื้อผ้าในรูปคือแฟชั่นใหม่ของชาวญี่ปุ่น
บางคน ที่ใช้ใส่ในพิธีบรรลุนิติภาวะค่ะ
พิธีบรรลุนิติภาวะ? หลายๆท่านคงสงสัย
ว่าผู้เขียนกำลังพูดถึงอะไร
พิธีบรรลุนิติภาวะคือพิธีที่จัดขึ้นตามเมืองต่างๆ
ในประเทศญี่ปุ่นทุกวันจันทร์ที่2 ของเดือนมกราคม
ของทุกปี (ปีนี้คือวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา)
เพื่อมอบประกาศนียบัตร และให้โอวาท
กับบุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ (อายุครบ20ปีบริบูรณ์)
พิธีนี้ คือพิธีที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ
ในยุคนาระ (ประมาณ 1300ปีก่อน)
โดยพิธีนี้จัดขึ้นเพื่อรับรองเด็กชายที่มีอายุ
ครบ20ปีบริบูรณ์ว่า ได้เปลี่ยนสถานะเป็น
ผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว
ในอดีต การเข้าร่วมพิธีบรรลุนิติภาวะนั้น
ผู้ชายต้องสวมสูท และ ผู้หญิงต้องสวมใส่
ชุดกิโมโนเท่านั้น
ในปัจจุบัน ไม่มีข้อบังคับในเรื่องนี้
เพียงแต่ต้องแต่งกายสุภาพและเป็นทางการ
หนุ่มสาวในปัจจุบันบางกลุ่ม
นิยมแต่งกายเป็นทีม
ด้วยสีสันที่ฉูดฉาดและสะดุดตา
กิโมโนบางชุดที่ใส่มาร่วมพิธี
มีราคาหลายล้านเยน
ในญี่ปุ่น คนหนุ่มสาวที่มีอายุครบ20ปีบริบูรณ์
ในทางกฏหมาย จะสามารถดื่มสุรา สูบบุหรี่
เล่นการพนัน (สามารถเข้าสนามม้าได้)
แต่งงานได้โดยไม่ต้องมีหนังสือยินยอมจาก
บิดา มารดาและ หนังสือเดินทางจะมีอายุ
นานถึง 10 ปี
จุดประสงค์ของพิธีนี้ จัดขึ้นเพื่อให้คนหนุ่มสาว
ที่ก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ได้ตระหนักและรับรู้
ถึงบทบาทและหน้าที่ของตนที่กำลังจะเปลี่ยนไป
ตั้งแต่ปีค.ศ 1990 เป็นต้นมา จำนวนผู้เข้าร่วม
ในพิธีเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ รัฐบาลจึงพยายาม
ชักชวนให้ผู้คนเข้าร่วมมากขึ้น รวมถึงกลุ่ม
อันธพาลที่เคยถูกห้ามเนื่องจากส่งเสียงดัง
ในขณะเข้าร่วมในพิธี และ ก่อเหตุทะเลาะวิวาท
ตั้งแต่ปีค.ศ 2000 ทางรัฐบาล ได้เปลี่ยน
คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมพิธีใหม่
โดยกำหนดจากชั้นเรียนที่กำลังศึกษา
แทนการกำหนดจากอายุอย่างในอดีต
ผลที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลงนี้คือ
ผู้เข้าร่วมในพิธีรู้สึกว่า งานนี้คืองานสังสรรค์
เพราะได้เจอเพื่อนเก่าในสมัยมัธยมต้นอีกครั้ง
คนหนุ่มสาวในพิธีพูดคุยกันเสียงดัง
บ้างก็ก่อเหตุทะเลาะวิวาทเพราะเจอคู่ปรับเก่า
หรือ เกิดการเขม่นกันขึ้นในงาน
นอกเหนือจากการได้รับการอบรม และ
เตรียมตัวสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต
ในทุกๆปี ผู้เข้าร่วมบางส่วนมักก่อปัญหา
และก่อความวุ่นวายในพิธีที่จัดขึ้น
ตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ถือว่าเหตุทะเลาะวิวาท
ในลักษณะนี้เกิดขึ้นน้อยครั้งมาก
คนหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นส่วนมาก
จะมีจิตสาธารณะและตระหนักถึงบทบาท
และหน้าที่ของตนในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม